เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[911] พระเจ้าทุทีปะผู้มีอานุภาพมาก
มีพระชนมายุยืนถึง 1,000 ปี มีพระรูปงามน่าดูยิ่ง
ทรงละแคว้นอันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนา
เสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จไปสู่สวรรค์
[912] พี่สุโภคะ พระเจ้าสาคระทรงปราบแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด
รับสั่งให้ตั้งเสาเจว็ดอันงามยิ่ง ล้วนแล้วด้วยทองคำ
ทรงบูชาไฟแล้ว ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[913] พี่สุโภคะ แม่น้ำคงคาที่ไหลไปสู่มหาสมุทรเป็นที่สั่งสมนมส้ม
ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด
ผู้นั้นคือพระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบูชาไฟแล้ว
เสด็จไปเกิดในพระนครของท้าวสหัสสนัยน์
[914] เทวดาผู้ประเสริฐมีฤทธ์มาก เรืองยศ
เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กำจัดมลทินด้วยวิธีโสมยาคะ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[915] เทพผู้ประเสริฐมีฤทธิ์มียศองค์ใดได้ทรงสร้างโลกนี้
โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี ภูเขาหิมพานต์ และภูเขาวิชฌะ
แม้เทพองค์นั้นก็ทรงได้บำเรอไฟในกาลนั้น
[916] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่น ๆ ว่ากันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญสร้างขึ้นไว้
[917] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
ผู้ประกอบการอ้อนวอนมหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :324 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[918] วัตถุที่ควรบูชาทั้งหลาย คือ พวกพราหมณ์
มีอยู่มากในแผ่นดินของท้าววาสวะ
พราหมณ์เหล่านั้นมีอยู่ทั้งในทิศตะวันออก ทิศตะวันตก
ทิศใต้ และทิศเหนือย่อมทำความรู้ให้เกิด
(พระโพธิสัตว์กล่าวเฉลยว่า)
[919] พ่ออริฏฐะ แท้จริง การเรียนรู้พระเวท
เป็นโทษของเหล่านักปราชญ์
แต่เป็นการกระทำของพวกคนพาล
เหมือนอาการของพยับแดด
เพราะเป็นของมองเห็นไม่ได้เสมอไป
มีคุณทางหลอกลวง พาเอาคนผู้มีปัญญาไปไม่ได้
[920] เวททั้งหลายมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร
ผู้ล้างผลาญความเจริญ เหมือนไฟที่บุคคลบำเรอแล้ว
ย่อมป้องกันคนโทสจริตให้ทำกรรมชั่วไม่ได้
[921] ถ้าคนทั้งหลายจะนำเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด
พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของตนผสมกับหญ้าให้ไฟเผา
ไฟที่มีเดชอันไม่มีใครเทียมเผาสิ่งทั้งหมด
แนะพ่อลิ้นสองแฉก ใครเล่าจะพึงทำให้ไฟนั้นอิ่มได้
[922] นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดา คือ
เป็นนมส้มแล้วก็กลับกลายไปเป็นเนยข้นฉันใด
ไฟก็มีความแปรไปเป็นธรรมดาได้ฉันนั้น
ไฟที่ประกอบด้วยความเพียรในการสีไฟจึงเกิดไฟได้
[923] ไม่ปรากฏว่าไฟเข้าไปอยู่ในไม้แห้งและไม้สด
เมื่อคนไม่สีไฟ ไฟก็ไม่เกิด
ไฟย่อมไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :325 }